top of page

โครงการวางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง (Ratchadamnoen Klang)

1.jpg

“สัญลักษณ์ของความก้าวหน้า หมุดหมายสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูกรุงรัตนโกสินทร์”

ถนนราชดำเนินเต็มไปด้วยประวัติความเป็นมาอันยาวนานในฐานะสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของสังคมไทย โดยตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ แต่ช่วงระยะหลังมานี้ความเป็นสัญลักษณ์ของถนนราชดำเนินในการนำพาสังคมไทยไปสู่ความก้าวหน้าสู่อนาคตได้เจือจางลงไปมาก จึงเป็นที่มาของโจทย์สำคัญในการวางแผนและออกแบบถนนราชดำเนิน


UddC เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในการพลิกฟื้นบทบาทของถนนราชดำเนินกลาง ด้วยความโดดเด่นขององค์ประกอบทางกายภาพ ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง แนวโน้มการพัฒนาในอนาคต และศักยภาพของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในการเป็นผู้นำการพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางสู่ “สัญลักษณ์ของความก้าวหน้า” ของสังคมไทย อันจะเป็นเสมือนหมุดหมายสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูกรุงรัตนโกสินทร์  

2.jpg
3.jpg

UddC ได้พัฒนาผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางและบริเวณโดยรอบได้ โดยแบ่งพื้นที่การพัฒนาทั้งหมดเป็น 4 โซนการพัฒนา ได้แก่ โซนที่ 1: ประตูสู่การเรียนรู้, โซนที่ 2: จัตุรัสแห่งปัญญา, โซนที่ 3: ก้าวหน้านวัตกรรม และโซนที่ 4: ไทยทำ-ไทยคิด โดยในแต่ละโซนการพัฒนามีจุดเด่นของแนวคิดการปรับปรุงพื้นที่เชิงกายภาพ ซึ่งมีเกณฑ์การออกแบบ 5 ประการสำคัญที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ดังกล่าวข้างต้น ได้แก่


1) สร้างพื้นที่และโอกาสในการเรียนรู้ผ่านมิติพื้นที่ด้านต่าง ๆ ทั้งในเชิงกายภาพ เชิงเสมือน และเชิงปัญญา อันเป็นแนวความคิดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่


2) ส่งเสริมความภาคภูมิใจแบบไทยนิยม โดยการพัฒนาระบบกิจกรรมในอาคารและพื้นที่สาธารณะที่ส่งเสริมทั้งการแสดงออกของศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการสำคัญของประเทศที่ถือเป็นระดับนวัตกรรม ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ


3) สร้างพื้นที่อเนกประโยชน์อย่างเหมาะสมและไม่ขัดแย้งกับบริบทพื้นที่และสังคมไทย โดยการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการใช้อาคารและพื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย สามารถดึงดูดกลุ่มคนต่าง ๆ ให้เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้ตลอดทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน 


4) พัฒนาฟื้นฟูถนนราชดำเนินในลักษณะของย่านการพัฒนา โดยไม่คิดแยกส่วน แต่สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองและระบบกิจกรรมของพื้นที่ย่านโดยรอบ


5) สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งกระบวนการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์หรือในเชิงสังคม

4.jpg
5.jpg
6.jpg

ทั้งนี้ การอนุรักษ์ผนังอาคารฝั่งริมถนนราชดำเนินกลางยังคงองค์ประกอบสำคัญของอาคารอันเป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย ด้วยการกำหนดมาตรฐานการปรับปรุงผนังอาคารที่เน้นการอนุรักษ์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เสริมสร้างบรรยากาศการเดินเท้า และส่งเสริมให้มีการดัดแปลงอาคารเพื่อรองรับระบบกิจกรรมใหม่ โดยคำนึงถึงความสมดุลของการอนุรักษ์และการพัฒนาผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับภูมิทัศน์อันสง่างามของถนนราชดำเนินกลาง

7.jpg

PROJECT FACT

Project Name : โครงการวางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง

Location : พื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร
Area :  936,588 ตารางเมตร
Client : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
Year : 2014
Status : งานศึกษา วิจัย และออกแบบ
Program / Role : การพัฒนาพื้นที่ย่านอนุรักษ์ 
Partners : -

bottom of page