โครงการผังแม่บท (CU 2040)
“จุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 กับพื้นที่เรียนรู้ร่วมแห่งอนาคต”
โครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 เป็นโครงการประวัติศาสตร์ของการออกแบบวางผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อพร้อมรับต่อการก้าวเข้าสู่ ศตวรรษที่ 2 ของมหาวิทยาลัย โดย สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี UddC เป็นคณะทำงานหลักของการออกแบบวางผัง รวมถึงการเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนโครงการสู่การปฏิบัติจริงอย่างราบรื่น
เนื่องจากทิศทางการเรียนรู้ของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร โลกได้เคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และนวัตกรรมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในฐานะสถาบันหลักระดับอุดมศึกษามุ่งใช้นวัตกรรม เป็นธงนำในการปรับเปลี่ยนทิศทางการเรียนการสอนและหลักสูตรให้มีความเป็นสหสาขา และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมจากการปะทะสังสรรค์ของความรู้ข้ามสาขายิ่งขึ้น
โครงการนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมต้นแบบ ผ่านการการออกแบบภายใต้เงื่อนไขของการใช้ประโยชน์สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงในการออกแบบพื้นที่จากสถานการณ์ปัจจุบัน และการคาดการณ์ภาพในอนาคต นำมาสู่การออกแบบผังแม่บท CU 2040 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ปรับ เปลี่ยน เปิด” โดยมีนัยยะสำคัญในการออกแบบ ดังนี้
1) ปรับสิ่งที่มีอยู่ ด้วยเทคนิคของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์อาคารและที่โล่ง ยังมีการใช้งานน้อย ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วม จะได้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ จากกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยไม่ต้องสร้างใหม่
2) เปลี่ยนการบริหารจัดการเวลา เพื่อเพิ่มช่วงเวลาในการใช้งาน บริหารจัดการพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหน้าอาคารให้มีชีวิตชีวาในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น
3) เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าถึงต้นทุนทางความรู้ของจุฬาฯ ได้ง่ายขึ้น ผ่านทางเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแนวรอยต่อของมหาวิทยาลัย
นอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อเป็นส่วนสนับสนุนและเอื้อต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ทั้งชาวประชาคมจุฬาฯ และสาธารณชนแล้ว ผังแม่บทจุฬาฯ ฉบับนี้ยังมีการคำนวณระบบวิศวกรรม ทั้งระบบพลังงานไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจราจรและขนส่ง และสุดท้ายระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อลดภาระในการบริหารจัดการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแบ่งระยะในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติจริงอย่างราบรื่นต่อไป
PROJECT FACT
Project Name : โครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2: เขตการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Location : พื้นที่เขตการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
Area : 1,086,560 ตาราเมตร
Client : สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Year : 2020
Status : งานศึกษา วิจัย และออกแบบ
Program / Role : การวางผังแม่บทมหาวิทยาลัยนวัตกรรมที่ยั่งยืน
Partners : บริษัท เอ็นเจ็ดเอ จำกัด / บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด