top of page

โครงการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน (Bangkok Under-Utilized Space)

1.jpg

“ปรากฏการณ์พื้นที่ทิ้งร้างในเมือง การพลิกวิกฤตสู่โอกาสด้วยการออกแบบ”

จากปรากฏการณ์การขยายตัวของเมืองตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมยกระดับเป็นจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งทางพิเศษยกระดับ รถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานข้ามแยก และสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งโครงการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้แม้ว่าช่วยประสานโครงข่ายการสัญจรให้กับเมือง แต่ก็สร้างให้เกิดการแยกตัวของเนื้อเมือง เนื่องจากโครงสร้างระบบคมนาคมขนาดใหญ่เหล่านั้นได้พาดทับลงไปบนเนื้อเมืองเดิม ส่งผลให้พื้นที่ด้านล่างโครงสร้างเหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ทิ้งร้าง ไร้ประโยชน์ และมักนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสภาพแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชนและระดับเมือง

2.1.jpg
2.2.jpg

UddC ได้ทำการคำนวณพื้นที่ใต้ทางด่วนของกรุงเทพฯ พบว่า จากพื้นที่ใต้ทางด่วนในเมืองทั้งหมดมีประมาณ 1,577 ไร่ และมีพื้นที่ว่างที่ไม่ถูกพัฒนาถึง 42.26% หรือประมาณ 666 ไร่ UddC จึงเล็งเห็นถึงการพลิกวิกฤติให้เกิดโอกาส โดยการใช้การออกแบบในการพลิกฟื้นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างดังกล่าว ให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทเมือง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการใช้ประโยชน์พื้นที่เมืองเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีคุณภาพ ภายใต้กรอบแนวคิดใหญ่ 3 ประการ ดังนี้ 


1) การเชื่อมโยงพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมือง และยังเป็นการส่งเสริมการสร้างทางเลือกในการเดินทางเข้าสู่ย่านกลางเมืองโดยใช้จักรยานและการเดินเท้า 


2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง เพื่อช่วยปรับสภาพอากาศลดอุณหภูมิของพื้นที่ ลดมลภาวะจากการจราจรและการสร้างความเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเขียวเดิมของเมืองให้เกิดเป็นโครงข่ายสีเขียว


3) การสร้างพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่มกิจกรรมที่หลากหลายแตกต่างกันตามทำเลที่ตั้ง โดยคำนึงถึงระยะเดินเท้า (400 เมตร) ระหว่างพื้นที่โครงการและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และกิจกรรมทางสังคมให้กับพื้นที่


UddC ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องช่วงถนนเพชรบุรี-ถนนสาทร ย่านธุรกิจและที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นและศักยภาพสูง โดยการพลิกฟื้นพื้นที่ทิ้งร้างนี้จะสร้างมูลค่าให้กับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบและสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ขณะเดียวกันด้วยความท้าทายทางด้านมิติทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่นำร่อง ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำไปต่อยอดทางด้านการศึกษาและวิจัยต่อไป

3.jpg
4.2.jpg
4.1.jpg

PROJECT FACT

Project Name : โครงการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนสายศรีรัช ช่วงถนนเพชรบุรี-ถนนสาทร

Location : พื้นที่ใต้ทางด่วนถนนสาทร - ถนนเพชรบุรี
Area : 67,410 ตารางเมตร
Client : สำนักการวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
Year : 2019
Status : การศึกษา วิจัย และออกแบบ
Program / Role : การออกแบบพื้นที่สาธารณะ
Partners : -

bottom of page