วัน-เวลา : 26 พฤศจิกายน 2558 18.00-22.00 น.
สถานที่จัดงาน : สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
เมืองเป็นพื้นที่แห่งการปะทะสังสรรค์ของกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนอย่างเข้มข้นระหว่างความหลากหลายเหล่านี้ นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการ
ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมรูปแบบใหม่ของเมือง ขณะเดียวกันความหลากหลายก็แฝงนัยยะของความแตกต่างทางความคิด ความต้องการ และโครงการพัฒนาที่มักขัดแย้งกันอยู่เสมอ อีกนัยหนึ่ง เมืองจึงเป็นพื้นที่แห่งการเผชิญหน้าและเจรจาต่อรองของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม การกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของเมืองและผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างไม่เป็นธรรม มักนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ที่มักลุกลามสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในที่สุด
ภายใต้ความท้าทายดังกล่าว เมืองทั่วถึง (Inclusive Cities) จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญ มีสาระสำคัญคือการสร้างกระบวนการพัฒนาที่เปิดกว้างและตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่หลากหลายในเมือง
โดยไม่ละทิ้งกลุ่มคนใดในสังคมไว้เบื้องหลัง กล่าวคือการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะได้อย่างเสมอภาค อาทิ พื้นที่โล่ง สวนสาธารณะ สถานีขนส่งมวลชน ตลอดจนสาธารณูปโภคทางปัญญา อันวางอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนและสังคมประชาธิปไตย
การฟื้นฟูเมืองจึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเมืองทั่วถึง ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองที่มีความเสื่อมโทรมทั้งกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สู่ย่านที่มีคุณภาพและความหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระดับต่าง ๆ ของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ ให้อยู่ร่วมกันและพึ่งพากันอย่างผสมกลมกลืน รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของคนทุกกลุ่ม
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการประชุมนานาชาติ Grand Bangkok – Grand Paris: Urban Regeneration towards Inclusive Cities เวทีถกเถียงและแลกเปลี่ยนทางความคิดกับผู้บริหารเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักผังเมือง และสถาปนิกผังเมือง จากกรุงเทพมหานครและกรุงปารีส สองมหานครแห่งความหลากหลาย ผ่านโครงการฟื้นฟูเมือง กรุงเทพฯ 250 และ กร็องปารี (le Grand Paris Plan) ซึ่งล้วนมีพื้นที่ริมแม่น้ำเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสร้างให้เกิดเป็นพื้นที่ทั่วถึงสำหรับทุกคน
การอภิปรายสาธารณะและนิทรรศการ มุมมองระหว่างปารีสและกรุงเทพฯ : โครงการแนวใหม่สำหรับเมืองพิเศษ ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ดังนี้
1) นิทรรศการ มุมมองระหว่างปารีสและกรุงเทพฯ: โครงการแนวใหม่สำหรับเมืองพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่แกลเลอรีสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ จะมีงานแนะนำงานนิทรรศการในวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น.
2) นิทรรศการงานประติมากรรม เมืองวิจิตร วันที่ 12 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม ที่่บริเวณด้านนอกตึกสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ พิธีเปิดจะมีขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น.
3) การอภิปรายบนเวที: มุมมองระหว่างปารีสและกรุงเทพฯ: โครงการแนวใหม่สำหรับเมืองพิเศษ ที่ห้องออดิทอเรียม สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 19.30 น.
4) การประชุมวิชาการว่าด้วยเรื่องพลวัตใหม่ของเมืองในสองมหานครนี้ วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะผู้จัดงาน
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประเทศไทย
สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)