top of page

New Normal แค่บ้านที่ดีไม่พอ​ ย่านต้องดีด้วย

30/05/2020

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) เสวนาเวที The Standard Economic Forum หัวข้อ URBAN LIFE TRANSFORMATION โลกอนาคตของการออกแบบเมือง เมื่อบ้านเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ร่วมกับ คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SC ASSET และ ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย สถาปนิก บริษัท all(zone) จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ คุณพิภู พุ่มแก้วกล้า เป็นการประชุมเสวนาทางออนไลน์​

ประเด็นสำคัญที่ ผศ.ดร.นิรมล​ ให้ความเห็น​เมื่อถูกถามถึงบ้านที่กลายเป็น​ศูนย์​กลางของ​ทุกสิ่งเมื่อยามกักตัว​ ในอนาคตบ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

“ดิฉันขอชี้ประเด็นต่อเรื่องบ้านที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของเมือง อันเป็นที่อยู่ของหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดที่เรียกว่าครอบครัว ในบริบท OLD NORMAL และ NEW NORMAL

เป็นที่ทราบกันดีว่า OLD NORMAL คือการที่บ้านมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งแนวโน้มนี้เหมือนกันทั่วโลก ของ กทม.ห้องเล็กที่สุดตอนนี้คือ 21 ตร.ม. เรียกว่าเปิดประตูสะดุดเตียง แล้วล้มนอนเลย ท่านทราบไหมคะว่า หากเป็นเมืองที่ดี เขาจะสามารถจัดหาสิ่งอื่นมาชดเชยได้บ้านที่เล็กลงเรื่อยๆ - นั่นคือ ย่านละแวกที่ดี

ย่านที่ดี คือ อาณาบริเวณรอบๆบ้านที่น่าอยู่ ร่มรื่น มีสาธารณูปการเพียงพอสำหรับการใช้ชีิวิต ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น มีร้านค้า มีตลาด มีแผงลอย มีบริการสาธารณสุข จบครบถ้วนภายในย่าน รัศมีการใช้ชีิิวิตของเราจบได้ในระยะเดินเท้าถึงหรือประมาณรัศมี 1 กิโลเมตรในย่านได้

ย่านที่ดี คือ สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างบ้านกับเมือง ที่เอื้อให้หน่วยย่อยที่สุดของเมือง บ้าน ร้านค้า ตลาด แหล่งงาน ทำงานร่วมกันได้ เกิดการผลิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเมืองไปพร้อมกัน

ย่านที่ดี จะทำให้ความรู้สึกของความเป็นบ้านแก่คนอยู่ นั่นคือความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่ง ความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ความรู้สึกเสมือนว่าเป็นบ้านจะกว้างไกลกว่าโฉนดที่ดิน

กทม. เป็นเมืองใหญ่ แม้ประกอบด้วยย่านจำนวนมาก จากการศึกษาของเราพบว่า หลายย่านยังไม่สามารถเรียกว่าครบสมบูรณ์ คนอยู่พระราม 3 ต้องขับรถมาวิ่งที่สวนลุม แทนที่จะจบในรัศมี 1 กม. กลายเป็น 5 กม. 10 กม. บางย่านไม่มีแหล่งงาน ก็ต้องเดินทางข้ามเมือง 20 กม. มาแหล่งงาน ที่นี้เวลาเกิดโรคระบาด เมืองปิดตัว รัศมีการใช้ชีวิตหดเล็กลง จาก “เมือง” เหลือแค่ “ย่าน” จึงเป็นปัญหาสำหรับคนหลายคน เพราะย่านที่เขาอยู่มีองค์ประกอบไม่ครบ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอยู่อาศัย คนที่บ้านเล็ก หรือชุมชนแออัด คนที่มีรายได้น้อย คนที่ทำงานนอกย่าน จะมีได้รับผลกระทบมากจากการกักตัวที่บ้าน

ดังนั้น เมื่อบ้านกลายเป็นศูนย์กลางทุกสิ่ง แต่จะพิจารณาแค่บ้านนั้นไม่พออีกต่อไป ต้องมองเลยถึง “ย่าน” ด้วย NEW NORMAL ที่เมืองอาจจะปิดๆเปิดๆ แบบนี้ แค่บ้านดีไม่พอ ต้องย่านดีด้วย เพราะหากเรามีย่านที่ดี ความสุขความทุกข์มันอาจจะพอเฉลี่ยกันในทุกระดับฐานะเศรษฐกิจ

การสร้างย่านละแวกที่ดี อาศัยหลายปัจจัย แต่พื้นฐานที่ไม่มีไม่ได้คือ การทำให้ย่านนั้น “เดินได้” เพื่อขยายรัศมีให้แต่ละชีวิต แต่ละองค์ประกอบภายในย่าน เชื่อมโยงเกื้อกูลกันได้

หากคุณเดินได้ คุณสามารถเดินไปซื้อของ พบปะผู้คน ทำความรู้จัก โอกาสสร้างความคุ้นเคย และนี่คือแผนที่แสดงโอกาสของ กทม. สีเขียวที่ท่านเห็นคือพื้นที่ที่คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์เพราะทุกสิ่งในชีิวิตประจำวันอยู่ในระยะที่เดินถึงคือ 800 เมตร คิดเป็นกว่า 60% ของพื้นที่เขตเมืองชั้นใน

นี่คือสารตั้งต้นในการฟื้นฟูเพื่อรับมือกับ NEW NORMAL เดยปรับปรุงจาก “เดินถึง” ให้ “เดินดี” ในสถานการณ์ที่เมืองปิดๆเปิดๆ ย่านละแวกจะมีบทบาทสำคัญ”

bottom of page