top of page

พระปกเกล้าสกายปาร์คคืบหน้าแล้ว 62%

25/12/2019

ผู้ว่าฯ กทม. ดีเดย์เปิดใช้งาน “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” 15 พ.ค. 63 พร้อมขอบคุณภาควิชาการ/ภาคประชาสังคม/ชุมชน ที่ผลักดันจนโครงการเดินหน้าตามลำดับ และได้ทักทาย “คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง” เบื้องหลังตัวจริงผู้เริ่มต้นไอเดียเปลี่ยนสะพานด้วนเป็นเส้นทางสีเขียวลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทย

25 ธันวาคม 2562 - พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” (สะพานด้วน) โครงการก่อสร้างพื้นที่สีเขียวบนโครงสร้างรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ซึ่งทิ้งร้างอยู่ระหว่างช่องกลางสะพานพระปกเกล้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างเป็นไปตามลำดับ วันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ให้เกียรติเชิญ ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และหัวหน้าโครงการกรุงเทพฯ 250 รวมทั้งคุณจักรดาว นาวาเจริญ กรรมการและสถาปนิก N7A และ อ.กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก LandProcess และ 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลระดับโลกโดยนิตยสาร TIMES ร่วมลงพื้นที่ในฐานะภาควิชาการ/ภาควิชาชีพเบื้องหลังโครงการอีกด้วย

ผู้ว่าฯ อัศวิน ประกาศต่อสื่อมวลชนว่าโครงการพระปกเกล้าฯสกายปาร์ค จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานในวันที่ 15 พ.ค. 63 ก่อนที่โรงเรียนส่วนใหญ่จะเปิดเทอมต้นปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 16 พ.ค. 62 ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนที่อาศัยและเรียนระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สอดคล้องกับเป้าหมายหนึ่งของโครงการ นั่นคือ ส่งเสริมการเชื่อมต่อด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยานระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่เรียนในสถานศึกษาหลายแห่งในพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

กว่าจะเห็นผลการดำเนินงานโครงการพระปกเกล้าสกายปาร์คคืบหน้าตามลำดับ จนกลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทยนั้น พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่หลายหน่วยงาน อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากภาควิชาการ/ภาควิชาชีพ ได้แก่ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) N7A และ LandProcess และที่สำคัญคือความร่วมมือจากชุมชน ดังเช่น คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง ประธานชุมชนวัดบุปผาราม ย่านกะดีจีน-คลองสาน เบื้องหลังผู้ชี้เป้าศักยภาพของ “สะพานด้วน” ระหว่างร่วมกระบวนการร่วมหารือในโครงการกรุงเทพฯ 250 โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. และ UddC-CEUS เมื่อ 4 ปีก่อน

bottom of page