top of page

เวทีเสวนาวิชาการ "Urbanization and The Informal Economy :
SDGs beyond Business as Usual"

16/03/2019

16 มีนาคม 2562 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมเวทีเสวนาวิชาการ "Urbanization and The Informal Economy : SDGs beyond Business as Usual" จัดโดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง มูลนิธิศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ และเครือข่าย จุฬาฯนานาชาติ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้อำนวยการ UddC เปรียบ “หาบเร่แผงลอย” กับ “ช้างสีชมพูที่อยู่​ในห้อง" กล่าวคือ หาบเร่แผงลอยเป็นหนึ่งในเศรษฐ​กิจนอกระบบที่เป็นคำถามใหญ่ของเมือง แต่หลายฝ่ายทำเป็นมองไม่เห็น ไม่เคยถูกจัดอยู่ในระบบหรือแม้กระทั่งไม่เป็นประเด็นสำคัญ​ในการออกแบบวางผังเมืองหรือแม้กระทั่งการเรียนการสอน ผลการศึกษาของ ดร.มาร์ธา เฉิน ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร WIEGO ชี้ว่า 90% ของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มาจากผู้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กลุ่มรับจ้างทำงานที่บ้าน ตลอดจนผู้ให้บริการรถจักรยานรับจ้าง
 

ดร.เฉิน ชี้ว่ากลุ่ม​แรงงานเศรษฐกิจ​นอกระบบเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เปราะบาง อาศัย​ใน "informal settlement" เช่น สลัม หรือชุมชนแออัด และทำมาหากินใน "public space" เช่น ทางเท้า พื้นที่สาธารณะ​ จึงนำมาสู่ความขัดแย้ง​กับภาครัฐ
 

ที่ผ่านมา UddC พยายามสร้างกระบวนการเพื่อหาทางออกเชิงกายภาพ ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและวินมอเตอร์ไซค์สามารถส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ เช่น โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ในพื้นที่นำร่องย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งงานและร้านค้าหาบเร่แผงลอย UddC ได้สร้างแพลตฟอร์มกลางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิม ภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการรายใหม่ นักท่องเที่ยว ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ร่วมสะท้อนความต้องการเพื่อหาทางออกในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ไม่เพียงทางออกเชิงกายภาพพื้นที่ แต่ยังได้คำตอบใหม่ในการแก้ไขปัญหาด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสามารถติดต่อกับผู้บริโภคผ่านเครือข่ายดิจิทัล

สำหรับกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาที่ประสบผลสำเร็จ ผศ.ดร. นิรมล ยกตัวอย่าง เมืองลอสแองเจลิส ที่สามารถออกเทศบัญญัติเมื่อปี 2018 อนุญาตผู้ค้าให้สามารถตั้งร้านค้าหาบเร่แผงลอยได้ในพื้นที่สาธารณะ หลังประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ปี 2008
ว่า หาบเร่แผงลอยสร้างความสกปรก เป็นสถานที่มั่วสุมของผู้ติดสุรา และเป็นฝ่ายเอารัดเอาเปรียบเนื่องจากผู้ค้าฯ ไม่เสียภาษีให้รัฐ
แต่ขณะเดียวกัน หาบเร่แผงลอยก็ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้เมือง เป็นสายตาเฝ้าระวังสร้างความปลอดภัย และเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด

ท้ายการเสวนา ผู้อำนวยการ UddC สรุปว่า การแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอย ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพนอกระบบเศรษฐกิจ ภาครัฐจำเป็นต้องแก้ไขใน 2 ระดับ คือ ระดับโครงสร้างและระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ยากกว่าและง่ายกว่า ตามลำดับ การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ สถาปนิกผังเมืองจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบกายภาพให้สอดรับกับความต้องการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนประสานความร่วมมือจากแต่ละภาคส่วนให้เกิดการหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืน
 

ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้คล่องตัว สามารถแก้ไขปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนปรับแก้ไขกฎเกณฑ์ข้อบังคับหลากหลายด้าน โดยมองกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนอกระบบเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

bottom of page